วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2567

หยิบดี | จาก”เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา” จับตาสภาพอากาศช่วงเปลี่ยนผ่าน


 



หยิบดี | #ช่วงเช้า มาสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเพื่อสังคม ผมจึงหยิบนำเรื่องราวภัยพิบัติ "อุทกภัย" ที่เกิดขึ้นทางเหนือนำมาเล่า นำมาเป็นประเด็นในการเรียนรู้ในสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้น ให้กับน้องๆ นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตรฐานวิทยาศาสตร์ ปวช.ชั้นปีที่ 1 ภายใต้โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ“บ้านนักวิทยาศาสตร์”
ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน ดังนี้
#ประเด็นเรียนรู้ จาก”เอลนีโญ” สู่ “ลานีญา” จับตาสภาพอากาศช่วงเปลี่ยนผ่าน สภาพอากาศของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก เอลนีโญ ไปสู่ ลานีญา หรือเรียกว่า "เอนโซ่" (ENSO) คาดว่าสภาพอากาศยังร้อนกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อครั้งเจอปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรง และอาจจะเผชิญกับน้ำท่วม จากปริมาณฝนมากกว่าปกติ
● จากการคาดการณ์ปรากฏการณ์เอนโซ่ (ENSO) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรและความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ เป็นปรากฏการณ์ทั้งเอลนีโญและลานีญา พบว่าในช่วงกลางไตรมาสที่สองของปี 2567 มีแนวโน้มที่สภาพภูมิอากาศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Neutral) และในช่วงต้นไตรมาสที่สามของปี 2567 ถึงต้นไตรมาสแรกของปี 2568
● ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) อย่างต่อเนื่อง โดยมีฝนตกหนักในพื้นที่หลายจังหวัด น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ข้างต้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วซึ่งไม่ได้พบได้บ่อยครั้ง
● นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณน้ำฝนลดลงและส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าปกติ ดังจะเห็นได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนทั่วประเทศ ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2567 มีปริมาตรรวม 43,354 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61.12 ของความจุน้ำใช้การ ลดลง
จาก 45,489 ล้านลูกบาศก์เมตรในปีก่อน และเพิ่มขึ้นจาก 39,019 ล้านลูกบาศก์เมตรในปี 2558 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ
● สถานการณ์สภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าค่าปกติ และสถานการณ์ฝนตกน้อย ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ให้ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 และลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงในปี 2558
● ดังนั้น ภายใต้การเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนเพิ่มขึ้น ภาครัฐจึงควรให้ความสำคัญในเฝ้าระวัง ติดตาม และการวางแผนประเมินสถานการณ์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างใกล้ชิด และมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับภัยพิบัติทางธรรมชาติทุกรูปแบบ พร้อมทั้งการยกระดับประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติต่าง ๆ อาทิ การผันน้ำ การระบายน้ำและการกระจายแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อภาคเกษตร รวมไปถึงยกระดับความรู้ ความสามารถ เกี่ยวกับสถานการณ์ของความแปรปรวน
● ด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกษตรกรมีความเข้าใจ และเข้าถึงหลักการกระบวนการใช้น้ำในการเพาะปลูกอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ ควรส่งเสริมมาตรการด้านการจัดการน้ำควบคู่กับด้านพันธุ์พืช โดยในระยะเริ่มต้นด้วยการให้เกษตรกรกระจายความเสี่ยงด้วยการปลูกพืชที่หลากหลายและพืชทนทานในทุกสภาพภูมิอากาศทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม
● ขณะที่มาตรการในระยะถัดไปควรมุ่งเน้นส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พืชชนิดอื่น ๆ ที่ทนต่อสภาพอากาศที่อาจจะแปรปรวนมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ความแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคเกษตร และเศรษฐกิจในภาพรวมได้น้อยลง
● "หยิบดี" คอลัมที่ผมตั้งใจนำเรื่องราวดีๆ ที่ควรถูกนำมาเล่า มาสื่อสารให้เป็นประโยชน์ต่อ ชุมชน สังคม ในวงกว้างยิ่งขึ้น ติดตามดูนะครับว่าผมจะ หยิบดีเรื่องราวไหนมาเล่าต่อไปนะครับ
ที่มาของข้อมูล : Thai PBS POLICY WATCH
จับตาอนาคตประเทศไทย https://policywatch.thaipbs.or.th/article/environment-32

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น