วันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การวิเคราะห์พลังงานไฟฟ้าของหม้อแปลงแรงสูงในการสร้างโคโรนา

วิสูตร อาสนวิจิตร มงคล ไชยวงศ์ อาทิตย์ ยาวุฑฒิ พานิช อินต๊ะ*

กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการวัดและควบคุมอนุภาคแขวนลอย วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร 085-040-1595 E-mail: iamvisut@gmail.com

บทคัดย่อ

โคโรนาและพลาสมาไอออนไนเซชันเป็นหนึ่งในจำนวนเทคนิคทั่วไปที่ใช้ในการสร้างไอออนที่มีความเข้มข้นสูง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ถูกใช้กันอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม เช่น การเคลือบและการตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต การอัดประจุไฟฟ้าสถิตโดยโคโรนาและพลาสมาไอออนไนเซชันยังถูกนำไปใช้ในการวัดการแจกแจงขนาดของละอองลอยด้วยการวิเคราะห์การเคลื่อนตัวเชิงไฟฟ้า โดยปกติแล้วโคโรนาและพลาสมาไอออนไนเซชันจะถูกสร้างโดยแหล่งจ่ายไฟฟ้าแรงสูง ในการศึกษานี้ได้ทำการทดลองการเกิดปรากฏการณ์โคโรนาและพลาสมาไอออนไนเซชันกับขั้วอิเล็กโทรดแบบเข็มโดยใช้หม้อแปลงไฟฟ้าแรงสูงแบบขดลวดขนาด 15 กิโลโวลต์ มีการวิเคราะห์พลังงานไฟฟ้า ฮาร์มอนิก เพาเวอร์แฟกเตอร์ขาเข้าด้วยเครื่องมือวัดทางไฟฟ้ามาตรฐานและเครื่องบันทึกคุณภาพไฟฟ้าของ Fluke โมเดล 435 ผลการวิจัยพบว่าโคโรนาไอออนไนเซชันมีการใช้พลังงานไฟฟ้าในระดับที่ต่ำกว่าพลาสมาไอออนไนเซชันและการเกิดโคโรนาและพลาสมาไอออนไนเซชันแต่ละแบบยังขึ้นอยู่กับระดับแรงดันทางไฟฟ้าที่จ่ายใช้ขั้วอิเล็กโทรดและระยะห่างของขั้วอิเล็กโทรด

การประชุมเชิงวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6

5 - 7 พฤษภาคม 2553 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

การวิเคราะห์ผลของค่าคงตัวของไดอิเล็กทริกของวัสดุต่อการอัดประจุไฟฟ้าอนุภาคในเครื่องตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต

มงคล ไชยวงศ์ วิสูตร อาสนวิจิตร อาทิตย์ ยาวุฑฒิ พานิช อินต๊ะ*

กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีการวัดและควบคุมอนุภาคแขวนลอย วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

จังหวัดเชียงใหม่ 50300 โทร 085-040-1595 E-mail: iamvisut@gmail.com

บทคัดย่อ

เครื่องตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการแพร่กระจายของอนุภาค ที่ใช้แรงทางไฟฟ้าสถิตเพื่อเคลื่อนย้ายอนุภาคออกจากกระแสการไหลของแก๊สไปยังขั้วตกตะกอน อนุภาคจะถูกอัดประจุไฟฟ้าโดยผ่านเข้าไปยังสนามโคโรนาดิสชาร์จซึ่งอยู่ภายในเครื่องตกตะกอน ซึ่งสนามไฟฟ้าภายในเครื่องตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิตจะมีแรงที่ผลักให้อนุภาคที่มีประจุเคลื่อนที่ออกจากขั้วอิเล็กโทรดไฟฟ้าแรงสูงไปยังขั้วตกตะกอน โดยค่าคงตัวของไดอิเล็กทริกของวัสดุเป็นตัวแปรที่สำคัญที่มีอิทธิพลต่อการใส่ประจุไฟฟ้าของอนุภาค ซึ่งจะสอดคล้องกับประสิทธิภาพการตกตะกอนของเครื่องตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต ดังนั้นในการศึกษานี้ ได้นำเสนอการวิเคราะห์ผลทางทฤษฏีของค่าคงตัวของไดอิเล็กทริกของวัสดุต่อการอัดประจุไฟฟ้าของอนุภาคในเครื่องตกตะกอนเชิงไฟฟ้าสถิต จะสมมุติให้อนุภาคที่ใช้ในการวิเคราะห์มีขนาดอยู่ในช่วง 10 นาโนเมตร (nm) ถึง 10 ไมโครเมตร (µm) จากผลการทำนายจำนวนประจุเฉลี่ยจากสมการของ White (1963) พบว่าผลของค่าคงตัวของไดอิเล็กทริกของแต่ละวัสดุต่อการอัดประจุไฟฟ้าของอนุภาคมีความแตกต่างเล็กน้อยมาก

การประชุมเชิงวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 6

5 - 7 พฤษภาคม 2553 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

"แอ๊บอีฮวก"

อ้างอิงจาก http://www.sinbalanna.com/board/read.php?tid=117

อี่ฮวก คือลูกอ่อนของกบหรือเขียด ถ้าเป็นลูกอ่อนกบ เรียก อี่ฮวกกบ ถ้าเป็นลูกอ่อนเขียด เรียก อี่ฮวกเขียด นิยมรับประทานอี่ฮวกกบมากกว่าอี่ฮวกเขียด นำมาปรุงเป็น แอ็บ และน้ำพริก เป็นส่วนผสมในแกงหน่อไม้ดอง แอ็บอี่ฮวก มีวิธีการปรุงเช่นเดียวกับแอ็บอ่องออ แอ็บกุ้ง แอ็บหมู ทำให้สุกโดยปิ้งหรือย่าง ด้วยไฟอ่อนๆ จนข้างในสุก (รัตนา พรหมพิชัย, 2542, หน้า 8111; อัมพร โมฬีพันธ์, สัมภาษณ์, 26 มิถุนายน 2550)

ส่วนผสม

1.ลูกอ๊อด 200กรัม

2.ใบขิง 1/2ถ้วย

3.พริกขี้หนู 20เม็ด

4.หอมแดง 10หัว

5.กระเทียม 20กลีบ

6.ตะไคร้ซอย 2ช้อนโต๊ะ

7.ข่าหั่น 2ช้อนโต๊ะ

8.ขมิ้นหั่น 1ช้อนโต๊ะ

9.กะปิ 1/2ช้อนโต๊ะ

10.เกลือ 1/2ช้อนชา

เครื่องแกง

1. โขลกเครื่องแกงรวมกันให้ละเอียด

2. ล้างลูกอ๊อดให้สะอาด ใส่ภาชนะ ใส่เครื่องแกงลงคลุกเคล้าให้เข้ากัน

3. ใส่ใบขิงซอย คลุกเคล้าให้เข้ากัน

4. เตรียมใบตอง กว้าง 8 นิ้ว วางซ้อนกันสองชั้นสลับหัวท้าย ตักส่วนผสมใส่ลงตรงกลางใบตอง

5. ห่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม ใช้ไม้กลัด กลัดใบตองให้ติดกัน

6. นำไปย่างไฟอ่อนๆ

7. ย่างจนกระทั่งใบตองเหลืองเกรียม คอยกลับด้าน ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที

ลำแต่แต้ :: รสชาติที่ได้เข้าสู่ปากครั้งแรกก่อนกินผมเองแทบจะไม่กล้ากลืน แต่ไหน เลยคำที่ 2 และ 3 กลับอร่อยมาก ยิ่งได้จิ้มกับข้าวเหนียวแล้วเข้ากันได้ดีมากเลยครับ เผลอแป๊บเดียว ผมกินแอ๊บอีฮวกไปแล้วสองห่อครับ กลิ่นของเครื่องแกง ที่ผสมลงในห่อใบตอง มันช่วยให้ ไม่มี กลิ่นคาวของอีฮวก และมีกลิ่นของใบตองด้วยเป็นรสชาติที่ผมมีความรู้สึกว่าอร่อยมากครับ และ ก็ยิ่งแปลกใจมากๆๆ โรงแรมทางเหนือน่าจะมีเมนูนี้ให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองน่ะครับพี่น้อง....

โดย : อ.วิสูตร อาสนวิจิตร วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา 128 ถ.ห้วยแก้ว ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300 โทรศัพย์:053-921444 ต่อ 1012 Email: visut@rmutl.ac.th website : https://sites.google.com/site/iamvisut/