วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2566

หยิบดี | ตอน : "กอดคอกันไปอย่างพี่น้อง"


 หยิบดี | ตอน : "กอดคอกันไปอย่างพี่น้อง"

จากความตั้งใจและอยากเห็นทุกคนในชุมชนมีการเรียนรู้และพร้อมร่วมกันพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้น เพราะเราเชื่อว่ากาแฟไทยของเรายังไปได้อีกไกล และสามารถต่อสู้ แข่งขัน กับเวทีในระดับโลกในด้านคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นของแหล่งปลูกนั้นๆ ได้อย่างสง่างาม
● ด้วยทางกลุ่ม Coffee Sci ได้ดำเนินงานในมิติของ ดิน ฟ้า กาแฟ และการเรียนรู้ในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมร่วมกันปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้ว โดยได้มีการทำงานเชิงพื้นที่ใน แหล่งปลูกกาแฟบ้านแม่จันหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ทำให้ได้พบเห็นวิถีการทำงานและปัญหา ตลอดจนความต้องการในการพัฒนาในเชิงพื้นที่ของเกษตรกร
● วันที่ 25-26 ธันวาคม 2566 ได้รับเชิญให้มาเป็นวิทยากรร่วมให้ความรู้ภาคสนามและติดตามผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านแม่จันหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ภายใต้โครงการวิจัย : นวัตกรรมฐานข้อมูลดินและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยใช้แบบจำลองพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขและระบบวิทยาการข้อมูลเพื่อบริหารจัดการวางแผนทางด้านการเกษตร (ปี2) พืชกาแฟ
● ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมิติต่างๆ ของสถานการณ์ในการผลิตกาแฟปี 2566-2567 ของพี่ๆเกษตรกร ตลอดจนได้มีข้อซักถามดีๆ ข้อเสนอแนะดีๆ ในกลุ่มพี่เกษตรกรที่สามารถนำมาเป็นตัวอย่างที่ดี ในการนำไปขยายผลสำหรับการจัดการในแปลงปลูกกาแฟปีต่อๆ ได้
● "หยิบดี" คอลัมที่ผมตั้งใจนำเรื่องราวดีๆ ที่ควรถูกนำมาเล่า มาสื่อสารให้เป็นประโยชน์ต่อ ชุมชน สังคม ในวงกว้างยิ่งขึ้น ติดตามดูนะครับว่าผมจะ หยิบดีเรื่องราวไหนมาเล่าต่อไปนะครับ

หยิบดี | ตอน : "ความสุขที่ระดับ1,508 เมตรจากระดับน้ำทะเล


 หยิบดี | ตอน : "ความสุขที่ระดับ1,508 เมตรจากระดับน้ำทะเล

"เพราะ"บทกวี" ไม่ได้เป็นสิ่งเพ้อฝัน แต่คือถ้อยคำที่ช่วยเยียวยาความขมของโลกแห่งความจริง เช่นเดียวกับกาแฟที่ไม่ได้มีดีแค่คาเฟอีน หากแต่มันมีมิตร ภาพที่มากมาย ช่วงเวลาที่ผ่านมา กาแฟได้นำพาให้ผมมาพบเจอมิตรภาพหลากหลาย และยิ่งนานวันมันยิ่งมีความผูกพันธ์กันมากขึ้น เหมือนหนึ่งในสมาชิกครอบครัวกัน

• กาแฟนำพาให้ผมมาพบเจอพี่ๆ ทุกแหล่งปลูก พบเจอรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความอบอุ่น ความห่วงใย มิตรภาพ พี่ๆหลายๆคน เคยถามผมว่าอาจารย์ทำงานอยู่ที่ในห้องแอร์สอนหนังสือสบายๆ แล้วออกมาขึ้นดอย ลงห้วย ไต่เขา ให้เหนื่อยทำไม คำตอบของผมที่ให้พี่ๆ คือ "รอยยิ้ม" ผมบอกกับพี่ๆ ว่าถ้าผมอยู่แต่เพียงในห้องสี่เหลี่ยมก็คงไม่พบเจอสิ่งดีๆเหล่านี้เป็นแน่ครับ

• โลกใบนี้ยังมีอะไรให้ทำอีกมากมาย ร้อยอย่าง พันอย่าง แสนอย่าง อย่ารอให้เวลาหมุนไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้ทำอะไรเลย มันจะเป็นอะไรที่เสียดายมากนะครับ

• ด้วยทางกลุ่ม Coffee Sci ได้ดำเนินงานในมิติของ ดิน ฟ้า กาแฟ และการเรียนรู้ในบริบทของการเปลี่ยน แปลงทางสังคมร่วมกัน โดยได้มีการทำงานเชิงพื้นที่ใน 9 แหล่งปลูกกาแฟในภาคเหนือ ทำให้ได้พบเห็นวิถีการทำงานและปัญหา ตลอดจนความต้องการในการพัฒนาในเชิงพื้นที่ของเกษตรกร

• จากความตั้งใจและอยากเห็นทุกคนในชุมชนมีการเรียนรู้และพร้อมร่วมกันพัฒนาผลผลิตของตนเองให้มีคุณภาพยิ่งๆ ขึ้น เพราะกาแฟไทยเรายังไปได้อีกไกล

หยิบดี | "นำวิทยาศาสตร์อย่างง่ายสู่ชุมชน"





 หยิบดี | "นำวิทยาศาสตร์อย่างง่ายสู่ชุมชน"

"ดิน ฟ้า กาแฟ"ยังเป็นมิติที่ทีมงาน Coffee sci เรายังให้ความสนใจและยังมุ่งมั่นในการร่วมช่วยปัญหาในเชิงพื้นที่ เมื่อสภาพอากาศแปร ปรวน ดังนั้นการนำวิทยาศาสตร์อย่างง่ายสู่ชุมชนในฉบับของทีมเราจึงนำมาขยายผลและลงพื้นที่ทำงานร่วมกับพี่ๆ เกษตรผู้ปลูกกาแฟบ้านแม่จันหลวง
● ได้รับเชิญให้มาเป็นวิทยากรร่วมให้ความรู้ภาคสนามและติดตามผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟบ้านแม่จันหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ภายใต้โครงการวิจัย : นวัตกรรมฐานข้อมูลดินและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยใช้แบบจำลองพยากรณ์อากาศเชิงตัวเลขและระบบวิทยาการข้อมูลเพื่อบริหารจัดการวางแผนทางด้านการเกษตร (ปี2) พืชกาแฟ
● "หยิบดี" คอลัมที่ผมตั้งใจนำเรื่องราวดีๆ ที่ควรถูกนำมาเล่า มาสื่อสารให้เป็นประโยชน์ต่อ ชุมชน สังคม ในวงกว้างยิ่งขึ้น ติดตามดูนะครับว่าผมจะ หยิบดีเรื่องราวไหนมาเล่าต่อไปนะครับ

หยิบดี | "ลุกขึ้นมาทำ" เติมเต็มโลกกาแฟ


หยิบดี | "ลุกขึ้นมาทำ" เติมเต็มโลกกาแฟ

ขอนำสิ่งดีๆ ฉบับย่อยง่ายมาเล่าสู่กันอีกสักหนึ่งตอน ซึ่งเป็นทริปแห่งการเดินทางท้ายสุดของปี 2023 ของเหล่าสมาชิกทีม Coffee Sci เนื้อหาได้พูดเกี่ยวกับกระแสของการบริโภคกาแฟอราบิก้า ของประเทศไทยเอาไว้ได้เข้าใจง่ายๆ แบบตรงไปตรงมา ผ่านมุมมองของคนเดินทางลงพื้นที่พบพี่ๆ เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ดังนี้
● การพัฒนาคุณภาพกาแฟด้วยกระบวนการผลิตที่พิถีพิถัน จึงเป็นวิธีที่จะช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าของกาแฟไทย ที่สำคัญคือ เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมพร้อมกับช่วยฟื้นฟูป่าต้นน้ำอันเป็นแหล่งปลูกกาแฟอราบิก้าไทย ก็เป็นอีกหนึ่งคุณค่าของกาแฟที่จะช่วยให้เกิดมูลค่ามากขึ้น นั้นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่บรรดาคนในวงการกาแฟต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนากาแฟให้มีคุณภาพ และสร้างความแตกต่างด้วยเอกลักษณ์ของแต่ละแหล่งปลูก
● ความนิยมด้านการบริโภคกาแฟของคนไทยเปลี่ยนจากโอเลี้ยงหรือโอยั๊วะเป็นกาแฟคั่วบดรสชาติหวานมัน จากนั้นวัฒนธรรมของสภากาแฟไทยก็ก้าวเข้าสู่ยุคของ "กาแฟคุณภาพพิเศษ" (Specialty Coffee) มากขึ้นตามความนิยมของตลาดกาแฟโลก ที่ได้ส่งผ่านความรู้เกี่ยวกับกาแฟซึ่งน่าค้นหาจนทำให้เกิดความหลงไหล
● กาแฟอราบิก้าในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูก เกิดการพัฒนาสายพันธุ์เรื่อยมาเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นที่ของประเทศไทย จนผ่านไปเนิ่นนานหลายปี กาแฟบางพื้นที่ไม่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างต่อเนื่องอาจจะด้วยหลายเหตุปัจจัย จนมีบางพื้นที่ต้นกาแฟถูกละเลยทิ้งขว้าง ไม่ได้รับการใส่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก
● แต่เพราะทีม Coffee Sci เราเชื่อว่ากาแฟไทยยังดีได้กว่านี้อีก เราจึง "ลุกขึ้นมาทำ" ร่วมกันทำใน มิติ ดิน ฟ้า กาแฟ พร้อมๆ กับร่วมมองไปข้างหน้าถึงมิติการพัฒนาในด้านอื่นๆ กับพี่ๆ เกษตรกรบ้านแม่จันหลวงที่มีการปลูกกาแฟในระบบสวนผสมผสาน มีเชอรี่ ลูกท้อ และพลับ แม่จันหลวงเป็นหมู่บ้านที่ถือว่ามีความสวยงามของธรรมชาติ และที่ขาดไม่ได้เลยคือความโดดเด่นในการเป็นไร่ชาที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และมีชื่อเสียงมากระดับโลก
● "หยิบดี" คอลัมที่ผมตั้งใจนำเรื่องราวดีๆ ที่ควรถูกนำมาเล่า มาสื่อสารให้เป็นประโยชน์ต่อ ชุมชน สังคม ในวงกว้างยิ่งขึ้น ติดตามดูนะครับว่าผมจะ หยิบดีเรื่องราวไหนมาเล่าต่อไปนะครับ
รูปโดย Cr : マノーチャイ バピット